ปีต โมนดรียาน (ดัตช์: Piet Mondriaan) มีชื่อเต็มว่า ปีเตอร์ กอร์เนลิส โมนดรียาน ยือนียอร์ (ผู้ลูก) (Pieter Cornelis Mondriaan, Jr.) เป็นศิลปินชาวดัตช์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1872 ที่เมืองอาเมอร์สโฟร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์
ปีต โมนดรียานเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศิลปะแบบนามธรรม ในปี ค.ศ. 1915 เขาและเตโอ ฟัน ดุสบืร์ค (Theo van Doesburg) ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเดอสไตล์ (De Stijl) โดยสร้างงานเรขาคณิตอันมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเจริญเติบโตขึ้นจากแนวทางของลัทธิรูปทรงแนวใหม่ (neo-plasticism) โมนดรียานจำกัดองค์ประกอบศิลป์ในงานของตนเองให้เหลือเป็นเพียงเส้นตรงในแนวตั้ง-แนวนอน และสีพื้นฐานไม่กี่สี เช่น เหลือง น้ำเงิน และแดง ได้ผลลัพธ์เป็นงานศิลปะที่ชัดเจนและเป็นระเบียบ ซึ่งโมนดรียานเชื่อว่าสามารถสะท้อนให้เห็นกฎแห่งจักรวาลได้
ปีต โมนดรียานเป็นลูกชายของปีเตอร์ กอร์เนลิส โมนดรียาน และโยฮันนา กริสตีนา โกก (Johanna Christina Kok) ในปี ค.ศ. 1880 ครอบครัวของเขาได้ย้ายไปยังเมืองวินเตอร์สไวก์ ภายหลังจากนั้นเขาได้พบกับครอบครัวของลุงฟริตส์ โมนดรียาน (Frits Mondriaan) ผู้ซึ่งเป็นจิตรกร และเป็นผู้ริเริ่มสอนการวาดภาพให้แก่โมนดรียาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1889 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1892 โมนดรียานได้ย้ายมาที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเพื่อเข้าศึกษาด้านศิลปะที่สถาบันทัศนศิลป์หลวง (Rijksakademie van Beeldende Kunsten) จนถึงปี ค.ศ. 1897 เข้าได้ศึกษา ฝึกฝนทางด้านงานจิตรกรรมอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือน และภาพหุ่นนิ่ง
ผลงานระยะแรกของโมนดรียานนั้นจะได้รับอิทธิพลมาจากความเป็นธรรมชาตินิยมและกลุ่มดัตช์อิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) เขาชอบออกไปวาดภาพธรรมชาติ ใช้สีค่อนข้างจะเศร้า มีโครงร่างเป็นสีเทาและเขียวทึบระหว่างปี ค.ศ. 1907-1910 ทั้งความคิดและผลงานตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตรกรชาวดัตช์ผู้มีชื่อเสียงยิ่งในยุคนั้น คือ ยัน โตโรป (Jan Toorop) โดยมีการแสดงออกตามแนวของกลุ่มสัญลักษณ์นิยม
ในช่วงนั้นเขาได้วาดภาพที่แสดงให้เห็นถึงสภาพบ้านเกิดของเขาอย่างชัดเจน ด้วยการวาดภาพกังหันลม ทุ่งหญ้า และแม่น้ำ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในกลุ่มดัตช์อิมเพรสชันนิสม์จากสกุลศิลปะเฮก (Hague School) ภาพวาดเหล่านี้เป็นการแสดงถึงจินตนาการของโมนดรียานที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินหลายคน หลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงลัทธิผสานจุดสีและการใช้แสงสีที่จัดจ้านสว่างไสวของคติโฟวิสต์ ที่พิพิธภัณฑ์เทศบาลเมืองเดอะเฮก (Gemeentemuseum Den Haag) เองได้มีการจัดแสดงภาพวาดในช่วงเวลานี้เช่นกัน รวมทั้งผลงานในลัทธิประทับใจยุคหลัง เช่น The Red Mill and Trees in Moonrise และในงานอื่น ๆ เช่น Evening (Avond), 1908 ในปี ค.ศ. 1905-1908 มีการจัดแสดงผลงานชุดที่รวบรวบจากการวาดภาพนามธรรมบนผืนผ้าใบ ซึ่งมีการพรรณนาถึงงความมืดมัว คลุมเครือของต้นไม้ และบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำ แม้ว่าตัวภาพจะนำเสนอต่อสายตาผู้ชมด้วยรูปแบบของโครงสร้าง การจัดวางที่เด่นชัด มากกว่าที่จะให้เนื้อหากับผู้ชม หากแต่รูปภาพเหล่านี้ก็ยังคงรากฐานความหนักแน่นของความเป็นธรรมชาติเอาไว้ให้เห็น
ผลงานของโมนดรียานมักจะเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการศึกษาทางด้านปรัชญา ในปี ค.ศ. 1908 ได้หันมาให้ความสนใจกับหลักปรัชญาที่ดำเนินการโดยเอเลนา เปตรอฟนา บลาวัตสกี (Elena Petrovna Blavatsky) และเป็นเหตุให้ในปี ค.ศ. 1909 เขาเข้าร่วมสมาคมเทวปรัชญาของชาวดัตช์ (Theosophical Society)
และในเวลาต่อมาเขาได้ก็พัฒนารูปแบบและค้นคว้าเรื่อยมาจนกระทั่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเริ่มต้นใช้สีที่ประกอบด้วยสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบของงานแบบนามธรรม เข้าถึงและเข้าใจได้ยาก และในเวลาต่อมาการเริ่มต้นนี้ก็ได้เป็นตัวส่งอิทธิพลให้กับของงานโมนดรียานเองอีกหลายงาน
ในช่วงหนึ่งโมนดรียานได้เริ่มเปลี่ยนแปลงความสนใจทางงานศิลปะของเขา ด้วยการเข้าชมนิทรรศการของกลุ่มบาศกนิยม "Moderne Kunstkring Exhibition" ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เขาได้ค้นคว้าจากการแสดงให้เห็นรูปแบบที่ธรรมดาของด้วยกัน 2 รูปแบบ จากภาพนิ่งของ Ginger Pot (Stilleven met gemberpot) รูปแบบแรกในปี ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นภาพที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มบาศกนิยม และรูปแบบที่ 2 ในปี ค.ศ. 1912 ซึ่งเขาลดทอนรูปแบบจากวงกลม การมีเส้นคดโค้ง มาเป็นสามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยมผืนผ้าแทน
อีกทั้งในปี ค.ศ. 1911 โมนดรียานได้ย้ายเข้าสู่กรุงปารีส ที่แห่งนั้นมีความเจริญ และเป็นใจกลางทางด้านงานศิลปกรรมแห่งยุคนั้น เขาได้เปลี่ยนนามสกุลของเขาในเวลาเดียวกันนี้ด้วยโดยตัดอักษรอา (a) หนึ่งตัวออกจากนามสกุลเดิม จาก "โมนดรียาน" (Mondriaan) เป็น "โมนดรียัน" (Mondrian) แต่การเปลี่ยนลายเซ็นบนผลงานของเขาได้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 ในระหว่างที่เขาอาศัยอยู่ในปารีส และในช่วงนั้นเองรูปแบบศิลปะแบบบาศกนิยมกำลังเป็นที่แพร่หลายอยู่ เขาจึงได้รับอิทธิพลการทำงานศิลปะจากกลุ่มบาศกนิยมของปาโบล ปีกัสโซ และฌอร์ฌ บรัก ซึ่งปรากฏให้เห็นในงานภาพชุดของโมนดรียาน ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับเขาเป็นอย่างมาก ภาพชุดนี้ประกอบไปด้วยทิวทัศน์ หุ่นนิ่ง และต้นไม้ที่แสดงวิวัฒนาการตั้งแต่ดูเหมือนจริงเรื่อยมาจนกลายเป็นภาพแบบนามธรรม ด้วยการลดทอนรูปทรงต่าง ๆ จากการที่ปรากฏเส้นคดโค้ง กลายเป็นเพียงเส้นตรงที่เข้ามาแทนที่ ความลึกตามหลักทัศนียภาพหายไป เหลือเพียงระนาบแบบ 2 มิติ มีเพียงเส้นตรงในแนวตั้งและแนวนอนที่สร้างจังหวะจะโคน ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นรูปทรงแบบเรขาคณิต ที่ปรับความแข็งกระด้างของเส้นตรงเหล่านั้นด้วยการนำเอาแม่สีซึ่งเป็นสีสันที่สดใสเข้ามาช่วยขัดกันให้ดูนุ่มนวลขึ้น
เมื่อปีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 โมนดรียานได้ย้ายกลับไปที่เนเธอร์แลนด์ และเริ่มค้นหาแนวทางไปสู่คตินิยมการสร้างงานแบบนามธรรม มีการพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับเส้นตรงและเส้นระดับสายตา ในปี ค.ศ. 1915 เขาได้พบกับเตโอ ฟัน ดุสบืร์ค ทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเดอสไตล์ขึ้นในปี ค.ศ. 1917
เดอสไตล์ (De Stijl) ร่วมก่อตั้งขึ้นโดยปีต โมนดรียาน และเตโอ ฟัน ดุสบืร์ค ในปี ค.ศ. 1917 ซึ่งเป็นนิตยสารที่นำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันให้กับรูปแบบทางศิลปะ ด้วยศิลปะแบบนามธรรม จนกระทั่งปี ค.ศ. 1924 แนวการทำงานของนิตยสารก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เดอสไตล์เป็นภาษาดัตช์ มีความหมายเดียวกับคำว่า The Style แปลว่า "แบบอย่าง" หรือ "กระบวนแบบ" ชื่อกลุ่มมาจากนิตยสารศิลปะฉบับหนึ่ง ศิลปินในกลุ่มนี้เป็นสถาปนิกและนักออกแบบในเนเธอร์แลนด์ พวกเขาเชื่อว่างานศิลปะและงานออกแบบควรทำเพื่อมุ่งไปสู่คนทั่วไปมากกว่ามุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพยายามหารูปแบบที่เป็นสากลนิยม ในด้านงานศิลปะพวกเขาได้อิทธิพลมาจากแนวคิดของบาศกนิยมในการใช้รูปทรง เรขาคณิต ศิลปินในกลุ่มเดอสไตล์นิยมใช้รูปทรงง่าย ๆ ได้แก่ สี่เหลี่ยมมุมฉาก สี่เหลี่ยมผืนผ้า นิยมใช้เส้นที่หนาและสีขั้นที่ 1 คือ สีน้ำเงิน เหลือง แดง หรือสีขาวและสีดำ การทำงานในลักษณะนี้บางครั้งเรียกกันว่า "ลัทธิรูปทรงแนวใหม่"
ในปี ค.ศ. 1920 โมนดรียานค้นคว้าการแก้ปัญหาในผลงานเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นสุดท้าย เขาได้พบกับความกลมกลืนที่สมดุลกันอย่างดี ด้วยการสร้างพื้นฐานรายละเอียดต่าง ๆ ของภาพ คือ เส้นตรงตั้งฉากกับแม่สีกับสิ่งตรงกันข้าม คือ เส้นนอนระดับสายตาแลสีที่ไม่เป็นสี เช่น สีขาว ดำ และสีเทา เขาเริ่มต้นด้วยวิธีการลดทอนส่วนของภาพให้ต่อเนื่อง และให้มันแยกตัวออกจากกัน แต่ละส่วนจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งแยกอยู่ส่วนพื้นที่ของตนโดยไม่ถูกรบกวน และส่วนต่าง ๆ นี้จะเกิดความขัดแย้งกัน ก่อให้เกิดการสัมพันธ์และความสมดุลด้วย จากสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความงามที่มีอิสระจากลักษณะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และลักษณะที่เป็นส่วนตนของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ
โมนดรียานสร้างงานของ "ความว่างเปล่า" ขึ้นเพื่อค้นหาคุณค่าอันสมบูรณ์ที่สุดโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความหมายจากธรรมชาติหรืออารมณ์ โดยทั่วไป คำว่า "นามธรรม" ย่อมตรงข้ามกับ "รูปธรรม" แต่ในทัศนะของโมนดรียานแล้ว ศิลปะนามธรรมของเขาออกมาในรูปทรงที่บริสุทธิ์ในฐานะรูปธรรมและมีตัวตน สามารถดำรงอยู่ได้ในตัวของมันเอง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกผลงานของเขาว่าเป็นลัทธิรูปทรงแนวใหม่
คำว่า "ลัทธิรูปทรงแนวใหม่" (neo-plasticism) เกิดขึ้นโดยโมนดรียานใช้เรียกแบบอย่างในผลงานของเขา ซึ่งเป็นแบบนามธรรมที่ใช้เส้นเรขาคณิตเป็นหลัก (geometric abstraction) หลักสุนทรียศาสตร์ของลัทธิส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในนิตยสารเดอสไตล์มาแล้ว ซึ่งได้นำเอาจุดเด่นบางประการจากลัทธิบาศกนิยมมา แต่ได้มีการละทิ้งรูปทรงที่ดูรู้เรื่องของกลุ่มบาศกนิยมไป นอกจากนี้พวกนิยมรูปทรงแนวใหม่ไม่นิยมเอาจุดเริ่มต้นมาจากรูปร่างแล้วค่อยลดทอนออกจนเหลือเพียงนามธรรมดังเช่นศิลปินบางกลุ่มทำ ส่วนใหญ่จะสร้างงานขึ้นจากความคิดฝันของตนเอง ตัวอย่าง เช่น โมนดรียานยึดถือการออกแบบองค์ประกอบอย่างเคร่งครัดในเรื่องการนำเส้นที่ตัดกันได้มุมฉากระหว่างเส้นระดับสายตากับเส้นตั้งให้มีความสัมพันธ์กันภายในกรอบสี่เหลี่ยมของภาพที่วาด โดยคำนึงถึงด้านช่องไฟให้มีความงดงาม การใช้สีจะใช้แม่สีสดใสรวมทั้งสีขาว ดำ และเทา
ลัทธิรูปทรงแนวใหม่เป็นผลสืบเนื่องจากปรัชญา "plastic mathematics" ของสคุนมาเกิร์ส (Schoenmaekers) นักปรัชญาชาวดัตช์ โมนดรียานได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบ "Plastic constructions" และได้อธิบายความหมายของลัทธิรูปทรงแนวใหม่ว่า ความแปรเปลี่ยนของธรรมชาติสามารถลดหรือตัดทอนมาสู่การแสดงออกทางรูปทรงแห่งความสัมพันธ์อันแน่นอนได้ ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายทางจิตวิญญาณภายใน มีความแน่นอนเช่นเดียวกับคณิตศาสตร์ และเป็นการแสดงให้เห็นลักษณะรากฐานของจัดวาง ผลงานของลัทธินี้ได้รับอิทธิพลมาจากบาศกนิยม เป็นการจัดองค์ประกอบนามธรรมของเส้นตรงที่ตัดกันได้มุมกันระหว่างแกนเส้นตั้งกับเส้นนอน เพื่อให้เกิดพื้นที่หรือช่องไฟอันงดงามและมีความสมดุลกันหลายด้าน พร้อมด้วยการใช้สีสดใสบริสุทธิ์ของแม่สีขั้นต้น และสอดสลับด้วยพื้นที่สีขาว สีดำ และสีเทาลงในที่บางแห่ง
โมนดรียานกล่าวว่า ศิลปะจะต้องเป็น "การทำให้ไม่เป็นธรรมชาติ" (denaturalized) ซึ่งเขาหมายถึงว่าจะต้องเป็นอิสระจากการเสนอเรื่องราวใด ๆ ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับส่วนส่วนตัวหรือของสิ่งใด ๆ ตามธรรมชาติทั้งสิ้น ต้องสร้างขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นนามธรรม ในหลักเช่นนี้เขาคิดว่า ยังมีสิ่งหนึ่งซึ่งอาจหนีลัทธิปัจเจกนิยมของพิเศษส่วนตัวลงได้ และจะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงการแสดงออกของวิญญาณสากลก็ด้วยการยึดหลักการดังกล่าว และการสร้างสรรค์ผลงานของกลุ่มนี้ยังได้ส่งอิทธิพลก่อให้เกิดกลุ่มศิลปินอิสระขึ้นอีกมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกลุ่มอัปสทรักซียง-เครอาซียง (Abstraction-Cr?ation)
ในปี ค.ศ. 1938 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้น โมนดรียานจึงได้ย้ายจากปารีสไปสู่ลอนดอนเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานจากเหล่าทหารนาซี ที่นั่นเขาได้พบกับเบน นิโคลสัน (Ben Nicholson), นาอุม กาโบ (Naum Gabo) และบาร์บารา เฮปเวิร์ท (Barbara Hepworth) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในด้านการหาที่พักอาศัย เครื่องอุปโภคบริโภค
จนเมื่อสงครามเริ่มสงบลงในอีกสองปีต่อมา (ค.ศ. 1940) โมนดรียานได้รับการเชิญชวนจากแฮร์รี โฮลซ์มัน (Harry Holtzman) เพื่อย้ายไปยังนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โมนดรียานจึงตัดสินใจเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ที่นั่นเขาได้เข้าร่วมกลุ่มกับศิลปินนามธรรมอเมริกัน (American Abstract) และยังคงมีการพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มลัทธิรูปทรงแนวใหม่อย่างต่อเนื่อง และในที่นั่นเขาพบกับสภาพบรรยากาศใหม่ ๆ ในนิวยอร์ก แสงสีจากไฟนีออน ความเจริญรุ่งเรือง ความรวดเร็วของชีวิตและเครื่องจักร เสียงดนตรีแจ๊สซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมากในสมัยนั้น และชีวิตอันวุ่นวายของชาวเมืองนิวยอร์ก สิ่งเหล่านั้นเองได้เข้ามาปรากฏและมีอิทธิพลในงานของโมนดรียาน
โมนดรียานยังคงดำเนินการสร้างงานในรูปแบบของตนเองเรื่อยมา หากเกิดแรงบันดาลใจใหม่จากเมืองที่เขาอาศัยอยู่นั่นก็คือนิวยอร์ก เขาจึงเริ่มสร้างผลงานชุดชื่อว่า NewYork และ NewYork City ขึ้นมา หากแต่รูปแบบที่โมนดรียานประทับใจต่อนิวยอร์กกลับเริ่มปรากฏที่ผลงาน Broadway Boogie-Woogie และผลงานที่ยังวาดไม่เสร็จ Victory Boogie-Woogie ซึ่งเป็นการแสดงถึงความประทับใจจากโมนดรียานต่อแสงสีและความรื่นเริงของนิวยอร์ก เขายังคงพื้นฐานเดิมของงานศิลปะในแบบเขาด้วยเส้นตรงแนวตั้งและแนวนอน หากแต่เขาได้เพิ่มจังหวะของผลงานเข้าไปด้วย โดยทำเส้นสีระยะสั้น ๆ ต่อกันอย่างหลากหลาย เสมือนกับจังหวะเพลงและชีวิตอันวุ่นวายของชาวเมืองนิวยอร์ก ซึ่งโมนดรียานเองยังคงมีความเห็นว่าผลงานของเขาไม่ได้สิ้นสุดลง แต่เป็น "ขั้นสุดท้ายของการค้นหารูปทรงอันบริสุทธิ์" และในปี ค.ศ. 1942 ที่ Valentine Dudensin Gallery ในนิวยอร์ก โมนดรียานได้มีโอกาสการจัดแสดงผลงานของเขาครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาของเขาขึ้นมา
และที่สุดท้ายของการย้ายมาพักพิงของโมนดรียานในระยะเวลาเพียง 4 ปี เขาได้เสียชีวิตลงที่นี่เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ขณะมีอายุได้ 71 ปี ด้วยอาการปอดบวม ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานไซเพรสส์ฮิลส์ บรูคลิน (Cypress Hills Cemetery) ในนิวยอร์ก